ค่าสายตาปกติ

สามารถมองเห็นระยะไกลและใกล้ได้ชัดเจน โดยไม่ต้องพึ่งพาแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ เกิดจากการที่แสงตกที่จอรับภาพพอดี

 

ค่าสายตาผิดปกติ

แบ่งออกเป็นอีก 4 ชนิด ได้แก่

 

สายตาสั้น

พบมากที่สุด ประมาณ 40% และในปัจจุบันพบอัตราผู้ที่มีสายตาสั้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเด็กวัยเรียน สาเหตุเกิดจากการที่มีโครงสร้างลูกตายาวหรือกระจกตาโค้งมากกว่าปกติ ทำให้แสงตกถึงก่อนจุดรับภาพ เกิดได้ทั้งจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลให้การมองเห็นในระยะไกลไม่ชัดเจน ผู้ที่มีสายตาสั้นต้องดูระยะใกล้ๆ ถึงสามารถมองเห็นได้ชัดเจน

ในกลุ่มที่มีค่าสายตาสั้นมากๆ (High myopia) สายตาสั้นเกิน -6.00 ไดออปเตอร์  อาจเพิ่มความเสี่ยง ในการเกิดจอประสาทตาลอก ต้อกระจก และต้อหินได้มากขึ้น นอกจากนี้กลุ่มที่มีสายตาสั้นเพิ่มต่อเนื่อง (Pathologic myopia) พบได้ประมาณ​ 2% เพิ่มความเสี่ยงตาบอดได้ จากภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ

ส่วนใหญ่ในเด็กที่มีสายตาสั้น มักจะมีค่าสายตาคงที่อายุเฉลี่ย 20 ปี ปัจจุบันพบว่าการใช้งานระยะใกล้นานๆ เพิ่มโอกาสที่ทำให้มีสายตาสั้นเพิ่มได้

อาการที่จะสังเกตได้ว่ามีสายตาสั้น เช่น ปวดหัว ตาเข ปวดตา ตาล้าเมื่อพยายามมองวัตถุที่ไกล ต้องหยีตาถึงมองได้ดีขึ้น (Pinhole effect)

การแก้ไข เช่น แว่นสายตาเลนส์เว้า คอนแทคเลนส์ (ชนิดนิ่ม กึ่งแข็งกึ่งนิ่ม ortho-K) เลเซอร์แก้ไขค่าสายตา (เลสิค พีอาร์เค) เลนส์เสริม ICL เลนส์เทียม ยาหยอด (atropine) ช่วยชะลอสายตาสั้นในเด็ก เป็นต้น

 

  1. สายตายาวแต่กำเนิด

หลายคนมักสับสนกับสายตายาวตามอายุ ซึ่งจะกล่าวถึงถัดไป สายตายาวแต่กำเนิดเป็นภาวะที่พบได้ตั้งแต่ในวัยเด็ก สาเหตุเกิดจากโครงสร้างลูกตาที่เล็กกระจกตาที่แบนกว่าปกติ ทำให้แสงตกเลยจุดรับภาพออกไป ซึ่งส่งผลให้การมองภาพโดยเฉพาะระยะใกล้ไม่ชัดเจน โดยทั่วไปหากพบตั้งแต่เด็กมีโอกาส สายตากลับมาเป็นปกติได้เมื่อโต

ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ เพราะเมื่อวัยเด็ก เลนส์ตาธรรมชาติมีกำลังเพ่งได้ดี จึงสามารถมองได้ไม่ลำบาก แต่หากใช้กำลังเพ่งนานๆ บางรายอาจทำให้มี อาการปวดหัว ล้าตาได้เช่นกัน ในเด็กเล็ก พ่อแม่ควรเฝ้าสังเกต หากไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ตาเข หรือมีภาวะตาขี้เกียจได้

การแก้ไข เช่น แว่นสายตาเลนส์นูน คอนแทคเลนส์ เลเซอร์แก้ไขค่าสายตา (เลสิค พีอาร์เค) เลนส์เสริม ICL เลนส์เทียม เป็นต้น แต่หากสายตายาวไม่มากไม่มากอาจไม่ต้องแก้ไข

 

  1. สายตาเอียง

สาเหตุเกิดจากความโค้งกระจกตาที่ไม่สมมาตรหรือเลนส์ตา ทำให้แสงไม่โฟกัสรวมกันเป็นจุดเดียว ส่งผลให้การมองเห็นภาพไม่คมชัด ขอบเบลอ อาจพบร่วมกับสายตาสั้นและสายตายาวได้เช่นกัน สำหรับผู้ที่มีสายตาเอียงมากๆ ควรตรวจเพิ่มเติม เพราะอาจสัมพันธ์กับโรคกระจกตาโก่งย้วยได้

อาการ มองภาพเบลอ ซ้อน หรือมีบิดเบี้ยว ปวดหัว ปวดตา มองเห็นยากเวลากลางคืน

การแก้ไข เช่น แว่นสายตาเลนส์แก้เอียง คอนแทคเลนส์ (ชนิดนิ่มแก้เอียง กึ่งแข็งกึ่งนิ่ม ortho-K) เลเซอร์แก้ไขค่าสายตา (เลสิค พีอาร์เค) เลนส์เสริม ICL เลนส์เทียมชนิดแก้ไขสายตาเอียง เป็นต้น

 

  1. สายตายาวตามวัยหรือสายตายาวตามอายุ

สาเหตุเกิดจากความเสื่อมตามวัย เริ่มมีอาการได้เมื่ออายุประมาณ 40 ปี และค่าสายตายาวเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้น เกิดจากความสามารถในการทำงานของกล้ามเนื้อตา และเลนส์ตา มีประสิทธิภาพลดลง ทำให้ไม่การโฟกัสมองระยะใกล้ๆ ทำได้ยากขึ้น

อาการ ปวดตา ตาล้า เวลาอ่านหนังสือหรือทำกิจกรรมระยะใกล้นานๆ ต้องยื่นหนังสือออกไกลจะสามารถเห็นได้ชัดเจนขึ้น หรืออ่านลำบากขึ้นในที่แสงน้อย อ่านฉลากยาที่มีอักษรเล็กๆ ลำบากขึ้น ในผู้ที่มีสายตาสั้น ต้องถอดแว่นถึงอ่านหนังสือได้ชัดเจนขึ้น

การแก้ไข เช่น แว่นสายตา (เลนส์ชั้นเดียว เลนส์สองชั้น เลนส์โปรเกรสซีฟ) คอนแทคเลนส์ (แก้ไขสายตายาวตามวัย หรือโมโนวิชชัน) เลเซอร์แก้ไขค่าสายตา (เลสิค พีอาร์เค โดยวิธีโมโนวิชชัน) เลนส์เทียมชนิดแก้ไขสายตายาวตามวัย เป็นต้น