ไขข้อสงสัยใส่หน้ากากเสี่ยงตาแห้ง
ใส่หน้ากากไม่ดีเสี่ยงอาการ ตาแห้ง ภูมิแพ้ตา ติดเชื้อในดวงตา
ในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีการรณรงค์ให้สวมหน้ากากกันมากขึ้น เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด และมีการทำงานผ่านการใช้จออุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ที่เพิ่มมากขึ้น จาก work from home (WFH) กลับพบว่ามีคนไข้ที่มีอาการระคายเคืองตา ไม่สบายตา แพ้แสง น้ำตาไหล ตาแดง หรือภาวะตาแห้งมาเป็นจำนวนที่มากขึ้น เรียกว่า Mask-associated dry eye; MADE
การศึกษาพบว่าอาการตาแห้งพบในกลุ่มผู้ที่ใส่หน้ากาก มากกว่า 3 ชม.ต่อวัน นอกจากนั้นยังเพิ่มโอกาสการติดเชื้อในดวงตา ภูมิแพ้ตามากยิ่งขึ้น อีกด้วย
สาเหตุ
เกิดจากระบบการหมุนเวียนของอากาศที่เปลี่ยนไป อธิบายง่ายๆ คือเมื่อสวมหน้ากาก ขณะหายใจออก ลมจะพุ่งตรงขึ้นสู่ดวงตา สัมผัสกับผิวกระจกตา ซึ่งเป็นตัวเร่งทำให้มีการระเหยของน้ำตาไวขึ้น ส่งเสริมให้เกิดภาวะตาแห้งง่ายขึ้น พบได้ทั้งในคนไข้ที่ไม่เคยมีปัญหาเรื่องตาแห้งมาก่อน หรือกลุ่มทีมีภาวะแห้งอยู่เดิมแล้ว
กลุ่มที่เสี่ยงสูง
- ผู้ที่มีภาวะตาแห้งอยู่เดิม
- ผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์
- ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว กลุ่มเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน กลุ่มภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตัวเอง เช่น โรคโชเกร็น
- ผู้ที่ใช้งานอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์เป็นเวลานานๆ เกิน 2 ชม. ต่อวัน
- คนไข้หลังผ่าตัด เช่น ผ่าต้อกระจก เลเซอร์แก้ไขค่าสายตา (พีอาร์เค เลสิก)
การแก้ไข
- เลือกหน้ากากที่สามารถปรับให้พอดีกับสะพานจมูก เช่น มีแถบลวดด้านบน
- ใช้เทปทางการแพทย์ปิดขอบบนจมูก (micropore หรือ transpore) การปิดเทปมีข้อควรระวัง หากดึงรั้งบริเวณเปลือกตาด้านล่างเกินไป เพิ่มความเสี่ยงตาแห้งได้เช่นกัน
- รักษาภาวะร่วมอื่นๆ เช่น ต่อมไขมันอุดตันที่เปลือกตา ภูมิแพ้ตา ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะตาแห้ง
- พักตาการใช้งานอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ โดยใช้หลักการ 20-20-20 คือ ใช้งาน 20 นาที พัก 20 วินาที โดยการมองไกล 20 ฟุต และออกกำลังกายตา กระพริบตาลดตาแห้ง
- เลี่ยงสภาวะแวดล้อมที่แห้งๆ เช่น ในห้องแอร์ มีลมเป่าตา
- หยอดน้ำตาเทียม
- หากมีอาการมาก แนะนำพบจักษุแพทย์